พฤศจิกายน 24, 2024

ETDA ประกาศผล ทีม Smile Migraine คว้าสุดยอดนวัตกรรม ร่วมแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตคนเมืองเชียงใหม่ ไปกับ “Hack for GOOD”

ETDA ประกาศผล ทีม Smile Migraine คว้าสุดยอดนวัตกรรม
ร่วมแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตคนเมืองเชียงใหม่ ไปกับ “Hack for GOOD”

 

29 เมษายน 2566, กรุงเทพฯ – สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) พร้อมด้วย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ เทคซอส มีเดีย ลงพื้นจัดใหญ่ Pitching Day ภายใต้กิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี เมืองเชียงใหม่” สำหรับปี 2566 ที่เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ยกระดับชีวิตคนเมืองเชียงใหม่ จากผู้เข้ารอบ 15 ทีมสุดท้าย ในที่สุด ทีม Smile Migraine แอปพลิเคชัน สำหรับผู้ป่วยไมเกรน คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รับรางวัล 400,000 บาท พร้อมโอกาสต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต ณ ห้อง NSP Rice Grain Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP)

 

 

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า “จังหวัดเชียงใหม่” ถือเป็นหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญที่มีความพร้อมในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศ จากการศึกษา พบว่า เชียงใหม่ยังคงเผชิญกับประเด็นทางด้านสุขภาวะ ด้านความสะอาดโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะและด้านสุขภาพ จากปัญหาฝุ่นควันและสารเคมีตกค้างในอาหาร เป็นต้น ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขัน เชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ Ecosystem ที่มั่นคง ปลอดภัย ตลอดจนเร่งเครื่องยุทธศาสตร์ประเทศ ภายใต้เป้าหมาย 30:30 ทั้งการเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเป็น 30% และอันดับความสามารถของไทยในการแข่งขันทางดิจิทัลจะต้องไม่น้อยกว่าอันดับที่ 30 จึงร่วมกับพาร์ทเนอร์โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะมีการปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้เกิดการ Implementation ได้จริง นำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับชีวิตของคนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ในปีนี้ทาง ETDA ได้ดำเนินการผ่านกิจกรรม “Hack for GOOD Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี” ที่เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ไม่เพียงเฟ้นหานวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเท่านั้น แต่ยังร่วมสร้างและร่วมพัฒนานวัตกรรมของผู้ให้บริการและผู้พัฒนาหน้าใหม่ ได้มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ ผลักดันนวัตกรรม โซลูชันสู่การใช้งานจริงด้วย ภายใต้โจทย์การแข่งขัน ที่เรียกว่า เป็นพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีสุขภาวะที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้ง Good Home บ้าน (เมือง) สะอาดดี,  Good Healthcare บริการสุขภาพดี และ Good Food for Health อาหารการกินดี ที่เป็น 3 มิติที่สามารถนำ model ที่เกิดขึ้นไปสู่การต่อยอด ขยายผลไปยังพื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้ได้นวัตกรรม โซลูชัน ที่เข้ามาแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆ ได้มากขึ้น

 

 

กิจกรรม Hack for GOOD เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีทีมสมัครเข้าร่วมกิจกรรม 90 ทีม ก่อนคัดเลือกให้เหลือ 15 ทีมสุดท้าย ได้แก่ ทีม Blockchain-based Wellness PHR & Health Data Management Platform, ทีม Daywork Smart Escort, ทีม Dietz Telemedicine Station, ทีม Fitsloth, ทีม Happo – Your Mental Test Kit, ทีม Kaset Market (เกษตร มาร์เก็ต), ทีม OmegaAI, ทีม ProWam (Pro-Active Precision Water Management), ทีม S.T. Care, ทีม Smile Migraine, ทีม Talk to PEACH, ทีม Trident Intelligence Management System, ทีม We Chef Food Truck Platform, ทีม เชียงใหม่ ลดเผา ลดฝุ่น และ ทีมโปรแกรมบริหารคลินิก และสถานพยาบาล ศูนย์บริการสุขภาพ Miracle Clinic System ซึ่งที่ผ่านมาทุกทีมได้เข้าร่วมกิจกรรม Workshop พัฒนาทักษะ ไอเดีย ต่อยอดนวัตกรรม โซลูชันกับหลากหลายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเข้มข้น ก่อนเข้าสู่โค้งสุดท้ายในวันนี้ (29 เม.ย.) กับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ หรือ Pitching Day ที่ทุกทีมได้มีการนำเสนอนวัตกรรม

 

 

โซลูชัน ระบบหรือแอปพลิเคชันต่อเหล่าคณะกรรมการบนเวที ภายในเวลาที่กำหนด พร้อมกับตอบคำถามจากเหล่าคณะกรรมการทั้งในมุมของ Business model การต่อยอดในระยะต่อไป การตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ แนวทางการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ผลกระทบต่อสังคมและคนในพื้นที่ และด้านอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้
คณะกรรมทุกท่านได้เห็นถึงศักยภาพและความโดดเด่นของสิ่งที่นำเสนอในแต่ละทีมได้เด่นชัดมากขึ้น กระบวนนี้ถือเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพและแนวคิดจากทีมที่เข้าประกวด และเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมชมสดทั้งในพื้นที่ และถ่ายทอดสดผ่านระบบ Zoom ร่วมกัน

 

 

จากการ Pitching นำเสนอไอเดียของทั้ง 15 ทีมและการตอบคำถามของคณะกรรมการ ก่อนที่คณะกรรมการทุกท่านจะได้ร่วมกันพิจารณาและลงคะแนนตัดสิน ในที่สุดเราก็ได้ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ไปกับ Hack for GOOD ได้แก่ ทีม  Smile Migraine เจ้าของแอปพลิเคชันที่ช่วยรักษาโรคไมเกรน พร้อมๆ ไปกับการสร้างชุมชนชาวไมเกรน ผ่านฟีเจอร์ต่างๆ และปรึกษาแพทย์ได้ผ่าน Tele-Migraine ได้รับเงินรางวัล 400,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร, รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Dietz Telemedicine Station เจ้าของระบบการแพทย์ออนไลน์แบบครบวงจร ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์ได้ทุกที่ แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง  รับเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร, รองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีม We Chef Food Truck Platform เจ้าของแพลตฟอร์ม ที่เข้ามาช่วยสร้างระบบนิเวศน์ Food Truck ช่วยบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการขายอาหารให้กับธุรกิจ Food Truck สู่การสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับเงินรางวัล 150,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร และรางวัลขวัญใจกรรมการ 2 รางวัล รางวัลละ 75,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม Talk to PEACH เจ้าของแอปพลิเคชันปรึกษาปัญหาสุขภาพทางเพศโดยไม่ต้องระบุตัวตนกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และ ทีม Kaset Market (เกษตร มาร์เก็ต) เจ้าของแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยเชื่อมต่อซัพพลายเออร์ด้านอาหารและร้านอาหาร เพื่อให้ร้านอาหารเข้าถึงวัตถุดิบออแกนิคได้อย่างคุ้มค่า ที่สำคัญยังรู้แหล่งที่มา ช่วยลด Zero Waste ให้แก่อุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ สำหรับทีมผู้ชนะทั้ง 5 ทีมยังจะได้รับ AWS Credit พร้อมทั้งโอกาสในการทดสอบนวัตกรรมกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่และการสนับสนุนต่อยอดจากพาร์ทเนอร์อื่นๆ ของ ETDA ด้วย และพิเศษสุด ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมต่อยอดนวัตกรรมในเวทีระดับประเทศ Techsauce Global Summit 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

 

 

“กิจกรรม Hack for GOOD นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของ ETDA ในยกระดับชีวิตดิจิทัลของคนในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งจากส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ ที่มาร่วมสร้างและร่วมพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม โซลูชัน ระบบหรือแอปพลิเคชันที่มี Potential ซึ่งจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์และพัฒนาชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลที่ได้จากเวทีนี้จะถูกนำไปต่อยอดทดลองใช้จริงในพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะกลายเป็น Innovation Sandbox ภายใต้การขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน โดย ETDA หวังว่า ทีมที่ได้รับรางวัลทุกทีม จะนำเงินรางวัลที่ได้ไปต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ของตนเอง และร่วมสร้าง Impact ให้เกิดขึ้นในระยะยาวทั้งกับสังคมและประเทศ เพื่อให้คนไทยก้าวสู่ชีวิตดิจิทัลที่มีคุณภาพและยั่งยืนไปพร้อมๆ กับเรา” นายชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

You may have missed