พฤศจิกายน 25, 2024

เปิดด้านมืดธุรกิจค้าสัตว์ป่าทั่วโลก ช้างไทยติดโผถูกกักขังเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เปิดด้านมืดธุรกิจค้าสัตว์ป่าทั่วโลก
ช้างไทยติดโผถูกกักขังเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เนื่องในวันช้างไทย 13 มีนาคม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เปิดผลรายงาน ‘เกิดมาเพื่อสร้างกำไร’: ความจริงของการทำฟาร์มสัตว์ป่าทั่วโลก (Bred for profit: The truth about global wildlife farming) พบว่ามีสัตว์ป่าที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางการค้าประมาณ 5.5 พันล้านตัว มูลค่าธุรกิจรวมหลายหมื่นล้านบาทต่อปี สัตว์ป่าเหล่านี้จะถูกกักขัง เพาะพันธุ์ เพิ่มจำนวนในลักษณะของการทำธุรกิจ ‘ฟาร์มสัตว์ป่า’ จากนั้นก็จะผ่านการทารุณกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การฝึกด้วยวิธีที่โหดร้ายทารุณเพื่อให้ช้างเชื่องพอที่จะมาเป็นสัตว์เลี้ยง หรือใช้เพื่อสร้างความบันเทิงหรือแสดงโชว์ช้าง

Working Elephants in Thailand.

ตามสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังรวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ถูกเลี้ยงเพื่อนำชิ้นส่วนอวัยวะมาผลิตเป็นเครื่องประดับ วัตถุดิบสำหรับอาหารในจานที่ดูหรูหราพิสดาร สินค้าแฟชั่น หรือยาแผนโบราณ
จากข้อมูลพบว่า สัตว์ป่าในฟาร์มจำนวนมากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดสารอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ แสดงพฤติกรรมที่เกิดจากความเครียด ได้รับบาดเจ็บ และมีบาดแผลที่ติดเชื้อ อีกทั้งเมื่อสัตว์ต้องอยู่รวมกันในสถานที่ที่คับแคบ ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรค หรือนำไปสู่การอุบัติโรคระบาดระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากวิกฤตการณ์โควิด-19


นิค สจ๊วร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยว่า สัตว์ป่าได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็น ‘สินค้า’ หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสายการผลิตที่โหดร้ายในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะถูกเพาะพันธุ์ให้เป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อใช้ในกิจกรรมล่าสัตว์ เพื่อสร้างความบันเทิงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำมาเป็นยาแผนโบราณ หรือสินค้าแฟชั่น การทำฟาร์มสัตว์ป่าที่โหดร้ายจะต้องยุติลงตั้งแต่ตอนนี้ เราสนับสนุนให้สัตว์ป่ามีชีวิตในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ กิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าควรมุ่งไปที่การลดความต้องการใช้สัตว์ป่า ยุติการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า และส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า ซึ่งทั้งหมดนี้ ในทางหนึ่งจะปกป้องเราทุกคนจากความเสี่ยงของโรคติดต่อจากสัตว์ป่าสู่คน


ผลวิจัยพบหลักฐานน้อยมากที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่า การทำฟาร์มสัตว์ป่าเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า และเป็นการอนุรักษ์จำนวนประชากรสัตว์ในป่า ในทางตรงกันข้าม กลับเพิ่มความเสี่ยงของการลักลอบจับสัตว์ป่าจากถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ เพื่อนำมาผสมพันธุ์ ส่งขายไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ และยังเป็นที่น่าตกใจว่า สัตว์ป่าบางสายพันธุ์กลับมีจำนวนประชากรในฟาร์มหรือกรงเลี้ยงมากกว่าที่อยู่ในป่าด้วยซ้ำ

วิกฤตจากฟาร์มสัตว์ป่าที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่
• การทำฟาร์มหมีในประเทศจีน – พบว่ามีการกักขังหมี 20,000 ตัว เพื่อเจาะเอาน้ำดีหมีในฟาร์มหลายสิบแห่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมน้ำดีหมีในจีนซึ่งมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นยาแผนโบราณ
• การทำฟาร์มสิงโตและเสือในแอฟริกาใต้ – พบว่ามีการเพาะพันธุ์สัตว์ตระกูลเสือสายพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 8,000 ตัว ในฟาร์มที่เป็นที่รู้จัก 366 แห่ง และใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย รวมถึงเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว ในกิจกรรมล่าสัตว์ และการส่งออกชิ้นส่วนของอวัยวะไปยังหลายประเทศในเอเชียเพื่อเป็นยาแผนโบราณ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 1.5 พันล้านบาท
• สำหรับการเพาะพันธุ์ช้างในประเทศไทยถูกจัดให้เป็นการทำฟาร์มสัตว์อีกรูปแบบหนึ่งเพราะประเทศไทยมีจำนวนประชากรช้างถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ในสภาพที่ถูกกักขัง มีการซื้อขายส่งต่อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำช้างไปใช้งาน สร้างกำไรซึ่งขั้นตอนการผสมพันธุ์ช้างในประเทศไทยโดยทั่วไปเริ่มจากเจ้าของช้างจ่ายเงินเพื่อเช่าช้างพ่อพันธุ์มาผสมพันธุ์กับช้างตัวเมีย และหลังจากที่ช้างคลอดลูก 1-2 ปี ลูกช้างที่ได้จะถูกนำไปขาย หลังจากนั้นช้างตัวเมียก็จะถูกผสมพันธุ์อีกครั้ง เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ประมาณการตัวเลขช้างในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้น 134% จากปี 2553-2563 กล่าวคือ มีลูกช้างเกิดขึ้นมาเข้ารับการฝึกด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวกว่า 1,100 ตัว ในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี
หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวจะจ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมใกล้ชิดกับช้าง เช่น เล่นกับช้าง ป้อนอาหารช้าง ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง หรือดูช้างแสดงพฤติกรรมเลียนแบบมนุษย์ ที่ผ่านมาธุรกิจสถานที่ท่องเที่ยวช้างไม่ว่าจะจดทะเบียนในลักษณะของบริษัท หรือมูลนิธิ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากช้าง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ดูแลสถานที่และสวัสดิภาพช้างอย่างจริงจัง จากงานศึกษายังพบว่าสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเป็นจุดแพร่ระบาดของโรคจากคนสู่สัตว์ ทั้งวัณโรค หรือแม้แต่โรคฉี่หนู เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวในบริเวณพื้นที่ปางช้าง ดังนั้น นอกจากรัฐจะต้องมีการสร้างกลไกเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของสถานที่เหล่านั้นแล้ว ยังต้องมีแนวทางควบคุมการผสมพันธุ์ช้าง เพื่อหยุดการต่อยอดความทุกข์ทรมานของช้างแบบไม่รู้จบ”
ช้างเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมากเรายังมีเวลาตราบเท่าชีวิตที่เหลืออยู่ของช้าง ที่จะเริ่มวางแผนเตรียมการเพื่อหยุดวงจรของการนำช้างมาใช้ประโยชน์ โดยมองหาช่องทางประกอบอาชีพทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ แรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจสถานที่ท่องเที่ยวช้างให้มองไปข้างหน้าถึงอนาคตที่คนจะเลิกกักขังและใช้ประโยชน์จากช้างเชิงพาณิชย์
“เนื่องในวันช้างไทย ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนหยุดสนับสนุนกิจกรรมที่ทำร้ายช้าง และผ่านกฎหมายที่ปกป้องช้างอย่างแท้จริง ร่วมแสดงพลังลงชื่อสนับสนุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของช้างไทยได้ที่ https://noelephantshow.worldanimalprotection.or.th/”

ที่มา: รายงาน ‘เกิดมาเพื่อสร้างกำไร’ ความจริงของการทำฟาร์ม์สัตว์ป่าทั่วโลก (Bred for profit: The truth about global wildlife farming) (https://www.worldanimalprotection.or.th/bred-for-profit)

###

You may have missed